ทฤษฎีกลุ่มมนุษนิยม (Humanism)


ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)




ทิศนา แขมมณี (2550 : 50 - 76) กล่าวไว้ว่า  ได้กล่าวทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยมไว้ว่า นักคิดกลุ่มมนุษยนิยม ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และมองมนุษย์ว่ามีคุณค่า มีความดีงาม มีความสามารถ มีความต้องการ และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน หากบุคคลได้รับอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพยยามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นักจิตวิทยาคนสำคัญในกลุ่มนี้คือ มาสโลว์,รอเจอร์สโคมส์โนลส์แฟร์อิลลิช  และนีล
                1. ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์
                ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
                         1) มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้น คือ ขั้นความต้องการทางร่างกาย ขั้นความต้องการความมั่นคงปลอดภัย ขั้นความต้องการความรัก ขั้นความต้องการยอมรับและการยกย่องจากสังคม และขั้นความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ หากความต้องการขั้นพื้นฐานได้รับการตอบสนองอย่างพอเพียงสำหรับตนในแต่ละขั้น มนุษย์จะสามารถพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น
                         2) มนุษย์มีความต้องการที่จะรู้จักตนเองและพัฒนาตนเองประสบการณ์ที่เรียกว่า “peak experience” เป็นประสบการณ์ของบุคคลที่อยู่ในภาวะดื่มด่ำจากการรู้จักตนเองตรงตามสภาพความเป็นจริง มีลักษณะน่าตื่นเต้น เป็นความรู้สึกปีติ เป็นช่วงเวลาที่บุคคลเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างถ่องแท้ เป็นสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะผสมผสานกลมกลืน เป็นช่วงเวลาแห่งการรู้จักตนเองอย่างแท้จริง บุคคลที่มีประสบการณ์เช่นนี้บ่อยๆจะสามารถพัฒนาตนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
                ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
                         1) การเข้าใจถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ สามารถช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของบุคคลได้ เนื่องจากพฤติกรรมเป็นการแสดงออกของความต้องการของบุคคล
                         2) การที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เขาต้องการเสียก่อน
                         3) ในกระบวนการเรียนการสอน หากครูสามารถหาได้ว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความต้องการอยู่ในระดับใดขั้นใด ครูสามารถใช้ความต้องการพื้นฐานของผู้เรียนนั้นเป็นแรงจูงใจ ช่วยให้ผุ้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
                         4) การช่วยให้ผู้เรียนได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนอย่างพอเพียง การให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ในการรู้จักตนเองตรงตามสภาพความเป็นจริง
                2. ทฤษฎีการเรียนรู้ของรอเจอร์ส
                ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
                         1) มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้ดีหากอยู่ในสภาพการณ์ที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ การจัดบรรยากาศการเรียนที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการเรียนรู้ และเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูใช้วิธีการสอนแบบชี้แนะ และทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนและการเรียนรู้จะเน้นกระบวนการ
                ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
                         1) การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้อบอุ่น ปลอดภัย ไม่น่าหวาดกลัว น่าไว้วางใจ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
                         2) ผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพและแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองอยู่แล้ว ครูจึงควรสอนแบบชี้แนะ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้นำทางในการเรียนรู้ของตน และคอยช่วยเหลือผู้เรียนให้เรียนอย่างสะดวกจนบรรลุผล
                         3) ในการจัดการเรียนการสอนควรเน้นการเรียนรู้กระบวนการเป็นสำคัญ เนื่องจากกระบวนการรเยนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญที่บุคคลใช่ในการดำรงชีวิตและแสวงหาความรู้ต่อไป
                3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโคมส์
                ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                         ความรู้สึกของผู้เรียนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้มาก เพราะความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนมีอิทธิพลต่อกระบวนกาเรียนรู้ของผู้เรียน
                ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
                          การคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เรียน การสร้างเจตคติที่ดีต่อกาเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัยที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
                4. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโนลส์
                ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                         1) ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้หากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
                         2) การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นกระบวนการภายใน อยู่ในความควบคุมของผู้เรียนแต่ละคน ผู้เรียนจะนำประสบการณ์ ความรู้ ทักษะและค่านิยมต่างๆ เข้ามาสู้การเรียนรู้ของตน
                         3) มนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีหากมีอิสระที่จะเรียนในสิ่งที่ตนต้องการและด้วยวิธีการที่ตนพอใจ
                         4) มนุษย์ทุกคนมีลักษณะเฉพาะตน ความเป็นเอกัตบุคคลเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มนุษย์ควรได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาความเป็นเอกัตบุคคลของตน
                         5) มนุษย์เป็นผู้มีความสามารถและเสรีภาพที่จะตัดสินใจ และเลือกกระทำสิ่งต่างๆตามที่ตนพอใจ และรับผิดชอบในผลของการกระทำ
                ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
                         1) การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน รับผิดชอบร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
                         2) .ในกระบวนการเรียนรู้ ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ เจตคติและค่านิยมต่างๆของตน เข้ามาใช้ในการทำเข้าใจสิ่งใหม่ ประสบการณ์ใหม่
                         3) ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสิ่งที่เรียนและวิธีเรียนด้วยตนเอง
                         4) ใน กระบวนการเรียนการสอน ครูควรเข้าใจและส่งเสริมความแตกต่างระหว่างบุคคล ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาคุณสมบัติเฉพาะตนไม่ควรปิดกั้น เพียงเพราะเขาไม่เหมือนคนอื่น
                         5) ในกระบวนการเรียนรู้ ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนตัดสินใจด้วยตัวเอง ลงมือกระทำ และยอมรับผลของการตัดสินใจหรือการกระทำนั้น
                5. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของแฟร์
                ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                         เปาโล แฟร์ เชื่อในทฤษฎีของผู้ถูกกดขี่ เขากล่าวว่า ผู้เรียนต้องถูกปลดปล่อยจากการกดขี่ของครูที่สอนแบบเก่า ผู้เรียนมีศักยภาพและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะกระทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง
                ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
                         ระบบการจัดการศึกษา ควรเป็นระบบที่ให้อิสรภาพและเสรีภาพในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน
                6. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของอิลลิช
                ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                         อิวาน อิลลิช ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับการล้มเลิกระบบโรงเรียนไว้ว่า สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นสังคมที่ต้องล้มเลิกระบบโรงเรียน การศึกษาควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิตแบบเป็นไปตามธรรมชาติ โดยให้โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่บุคคลอย่างเต็มที่
                ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
                         การจัดการศึกษาไม่จำเป็นต้องจัดทำในลักษณะของระบบโรงเรียน ควรจัดในลักษณะที่เป็นการศึกษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิตไปตามธรรมชาติ
                7. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนีล
                ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
                         นีล กล่าวว่า มนุษย์เป็นผู้มีศักดิ์ศรี มีความดีโดยธรรมชาติ หากมนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น บริบูรณ์ไปด้วยความรัก มีอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพัฒนาไปในทางที่ดีทั้งต่อตนเองและสังคม
                ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน

                         การให้เสรีภาพอย่างสมบูรณ์แก่ผู้เรียนในการเรียน เรียนเมื่อพร้อมที่จะเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามธรรมชาติ


Rattanawutdpu ( http://rattanawutdpu.blogspot.com/2011/06/humanism.html  )ได้กล่าวว่า  ทฤษฎีมนุษย์นิยมมีวิวัฒนาการมาจากทฤษฎีกลุ่มที่เน้นการพัฒนาตามธรรมชาติ แต่จะมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น คือเป็นกระบวนการมากยิ่งขึ้น
ลักษณะสำคัญ
      นักทฤษฎีกลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์มีอิสระที่จะเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ดีจากการสนับสนุน หรือส่งเสริมของครูผู้สอน ผู้นำความคิดที่สำคัญได้แก่ Rogers และ Maslow
      Rogers ได้พัฒนาแนวคิดแห่งการเรียนรู้ตามทฤษฎีมนุษย์นิยมว่าจะเรียนได้ดีในบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่สบาย (Comfortable) ไม่มีการคุกคาม (Threatened) จากองค์ประกอบภายนอก ส่วนครูทำหน้าที่อำนวยความสะดวก (Facilitator)
      หลักการหรือความเชื่อของทฤษฎี คือ
              1. มนุษย์มีธรรมชาติแห่งความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
              2. มนุษย์มีสิทธิในการต่อต้านหรือไม่พอใจในผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งต่างๆ แม้สิ่งนั้นจะได้รับการยอมรับว่าจริง
              3. การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คือการที่มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด หรือมโนทัศน์ของตนเอง
      
       Maslow ได้พัฒนาแนวคิดทฤษฎีมนุษย์นิยมจากความเชื่อที่ว่า มนุษย์ไม่ได้ต้องการเรียนรู้เนื่องมาจากสิ่งเร้าภายนอก หรือไม่ได้ต้องการเรียนรู้เนื่องมาจากสัญชาติญาณของจิตไร้สำนึก แต่มนุษย์ต้องการที่เรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่การเป็นคนที่สมบูรณ์ (Fully Functioning Person) ซึ่ง Maslow ใช้คำว่า Self-actualizing Person
     Maslow ได้พัฒนาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนของความต้องการของมนุษย์ไว้ 5 ขั้นคือ
             1. ความต้องการทางกายภาพ (Physiological needs) คือความต้องการในการดำรงชีวิต เช่น ความต้องการอาหาร อากาศ น้ำ และอุณหภูมิ เป็นต้น
             2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety Need) คือความต้องการที่จะมีความมั่นคงหรือปลอดภัยในชีวิต
             3. ความต้องการความรัก ความชอบ และการเป็นเจ้าของ (Need of  Love, Affection and Belongingness)
             4.ความต้องการความภาคภูมิใจ (Need for Esteem) คือความต้องการที่จะมีความภาคภูมิใจในตนเองและความภาคภูมิใจที่จะได้รับจากผู้อื่นด้วยการเคารพตนเองและได้รับความเคารพจากผู้อื่น
             5. ความต้องการเป็นมนุย์ที่สมบูรณ์ (Need for Self-Actualization) คือความต้องการที่จะเป็น (Be)หรือ ทำ (Do) ในสิ่งที่บุคคลเกิดมาให้สมบูรณ์ หรือไปถึงจุดสูงสุด
ส่วนของ Chapman มีหลักการคล้ายๆ กันกับ Maslow แต่ได้อธิบายเพิ่ม ขึ้นมา คือ
            ขั้นที่ 5 ความต้องการทางสติปัญญา (Cognitive Need) คือความต้องการในการเรียนรู้และสามารถในการตีความหมาย
            ขั้นที่ 6 ความต้องการทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Needs) คือความต้องการความซาบซึ้งใจในความงาน ความสมดุล และความสมบูรณ์แบบ
           ขั้นที่ 7 ความต้องการในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
           ขั้นที่ 8 ความต้องการในการเป็นมนุษย์เหนือมนุษย์ (Transcendence Needs) คือความต้องการที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นให้พัฒนาไปถึงขีดสูงสุดและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 (http://www.gotoknow.org/blog/panjanee-2209)  ได้รวบรวมแล้วกล่าวถึงทฤษฎีนี้ว่า นักคิดกลุ่มมนุษยนิยมให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และมองมนุษย์ว่ามีคุณค่า มีความดีงาม มีความสามารถ มีความต้องการ และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน หากบุคคลมีอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทฤษฏีและแนวคิดที่สำคัญๆ ในกลุ่มนี้มี 2 ทฤษฏี คือ
           - ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้น และต้องการที่จะรู้จักตนเองและพัฒนาตนเอง หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการพื้นฐานนั้นอย่างพอเพียง ให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้ มีการจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ในการรู้จักตนเองตามสภาพความเป็นจริง Maslow’s Hierachy of Needs Abraham Maslow อธิบายว่าความต้องการที่ทำให้มนุษย์เกิดแรงจูงใจในการทำพฤติกรรมว่าแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ความต้องการที่จำเป็นในการที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งต้องได้รับการตอบสนองก่อนจึงจะมีแรงจูงใจในการทำพฤติกรรมเพื่อความต้องการอื่น ความต้องการระดับนี้ ถือเป็นความต้องการระดับต่ำ ประกอบด้วย
          1. ความต้องการทางกายได้แก่ ต้องการอาหาร น้ำ อากาศ ฯลฯ
          2. ความต้องการความปลอดภัย
          3. ความต้องการการยอมรับเป็นสมาชิกของกลุ่มและความรัก
          4. ความต้องการความนิยมนับถือ เกียรติยศชื่อเสียง อีกระดับหนึ่งเป็นความต้องการระดับสูง คือความต้องการที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความเจริญแห่งตน ประกอบด้วย
         5. ความต้องการรู้และเข้าใจ
         6. ความต้องการสุนทรีย์ (ซาบซึ้งในศิลปะและดนตรี
         7. ความต้องการที่จะทำในสิ่งที่ตนมีศักยภาพอย่างเต็มที่ (ต้องการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เต็มศักยภาพของตน) มนุษย์ต้องได้รับการตอบสนองในแต่ละขั้นตั้งแต่ขั้นแรกก่อนจะมีแรงจูงใจในการทำพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการในขั้นต่อไป เช่น อิ่มก่อนจึงจะแสวงหาความปลอดภัย แล้วจึงทำพฤติกรรมเพื่อให้ได้รับความรัก เมื่อได้แล้วจึงแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียงต่อไป เมื่อความต้องการในระดับต่ำนี้ลดลง (ได้รับแล้ว) แรงจูงใจในการทำพฤติกรรมเพื่อสนองความต้องการระดับสูงจึงเกิดขึ้น คือแสวงหาความรู้ความเข้าใจ สุนทรีย์ทางศิลปและดนตรี แล้วจึงทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพัฒนาตนเองให้เต็มความศักยภาพที่มีอยู่ 
         ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ (Maslow) แนวความคิดที่ได้อธิบายถึงลำดับความต้องการของมนุษย์ โดยที่ความต้องการจะเป็น ตัวกระตุ้นให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อไปสู่ความต้องการนั้น ดังนี้ถ้าเข้าใจความต้องการของมนุษย์ก็สามารถ อธิบายถึงเรื่องแรงจูงใจของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน ในเรื่องความต้องการ (Need) ของมนุษย์ ถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องความต้องการของมนุษย์แล้ว เราจะสามารถเข้าใจ พื้นฐานพฤติกรรมของมนุษย์ได้มากยิ่งขึ้น ความต้องการของมนุษย์ตามแนวความคิดของมาสโลว์ (Maslow) มาสโลว์ ได้แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้นเรียงตามลำดับ ดังนี้ The five needs
         ขั้นที่ 1 ความต้องการทางกาย (Physiological Needs) คือความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต
         ขั้นที่ 2 ความต้องการความ มั่นคงปลอดภัย (Safety and Security Needs) คือความต้องการที่จะมีชีวิต ที่มั่นคง ปลอดภัย
        ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและการเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม (Love and Belonging Needs) มนุษย์เมื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มใดก็ต้องการให้ตนเป็นที่รักและยอมรับในกลุ่มที่ตนอยู่
        ขั้นที่ 4 ความต้องการได้ รับการยกย่องจากผู้อื่น (Self -Esteem Needs) เป็นความต้องการในลำดับต่อมา ซึ่งความต้องการในชั้นนี้ถ้าได้รับจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจใจตนเอง
        ขั้นที่ 5 ความต้องการในการเข้าใจและรู้จักตนเอง (Self-Actualization Needs) เป็นความต้องการชั้นสูงของมนุษย์ ซึ่งน้อยคนที่จะประสบได้ถึงขั้นนี้ มาสโลว์ได้กล่าวเน้นว่า ความต้องการต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเกิดเป็นลำดับขั้น และจะไม่มีการข้ามขั้น ถ้าขั้นที่ 1 ไม่ได้รับการตอบสนอง ความต้องการในลำดับขั้นที่ 2-5 ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ การตอบสนองที่ได้รับในแต่ละขั้นไม่จำเป็นต้องได้รับทั้ง 100% แต่ต้องได้รับบ้างเพื่อจะได้เป็นบันไดนำไปสู่การพัฒนาความต้องการในระดับที่สูงขึ้นในลำดับขั้นต่อไป


สรุป

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม กลุ่มมนุษยนิยมให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และมองมนุษย์ว่ามีคุณค่า  มีความดีงาม  มีความสามารถ  มีความต้องการ  และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน  หากบุคคลมีอิสรภาพและเสรีภาพ  มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ที่มา

               ทิศนา แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
                            ประสิทธิภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). ด่านสุทธาการพิมพ์ : กรุงเทพฯ
Rattanawutdpu [ออนไลน์] http://rattanawutdpu.blogspot.com/2011/06/humanism.html                                                                                                เข้าถึงเมื่อ 25 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560.  
http://www.gotoknow.org/blog/panjanee-2209. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิธีสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง (Case Method)

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มผสมผสานของกานเย (Gagne's eclecticism)